การลงทุนใน NFT มีปัจจัยใดบ้างที่มีผลกระทบต่อมูลค่าของผลงาน

การลงทุนใน NFT มีปัจจัยใดบ้างที่มีผลกระทบต่อมูลค่าของผลงาน Non- Fungible Token หรือ NFT ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนและผู้สร้างผลงานอย่างมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการลงทุนแบบดั้งเดิม หลายคนมักเปรียบเทียบ “การลงทุนใน NFT” เหมือนกับ “การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก” ด้วยเหตุผลที่ว่าลักษณะบางอย่างมีความใกล้เคียงกัน ตัวอย่างเช่น ภาพวาด เพลง วิดีโอ เป็นต้น แต่ความแตกต่างคือ NFT มีความหมายที่กว้างกว่านั้น นอกจากนั้นยังสามารถยืนยันความเป็นเจ้าของของผลงานนั้นได้อีกด้วย ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่า ผลงานดังกล่าวเป็นผลงานต้นฉบับ ไม่ได้เป็นผลงานลอกเลียนแบบ

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อมูลค่าของผลงาน NFT
เมื่อ ‘การลงทุนใน NFT’ และ ‘การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก’ มีลักษณะบางอย่างที่ใกล้เคียงกันแล้ว เราอาจนำแนวคิดการวิเคราะห์การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกมาปรับใช้ในการลงทุนใน NFT ได้ ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ โดยสามารถรวบรวมมาได้ 5 ปัจจัย รายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ชื่อเสียงของผู้สร้างผลงาน NFT
เมื่อผู้สร้างผลงานเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง นั่นทำให้อาจมีผู้ที่ชื่นชอบผลงานของผู้สร้างอยู่แล้ว อีกทั้งยังสามารถเพิ่มโอกาสในการที่หานักลงทุนเข้ามาลงทุนในผลงาน นอกจากนั้น แนวโน้มการเติบโตในอนาคตของผู้สร้างผลงาน ย่อมมีผลต่อมูลค่าของผลงานที่สร้าง ตัวอย่างเช่น หากผู้สร้างเป็นศิลปินที่เพิ่งเข้าวงการ เมื่อเวลาผ่านไป ศิลปินคนนั้นมีชื่อเสียงขึ้นมา อาจทำให้มูลค่าของผลงานที่ศิลปินผู้นั้นสร้างไว้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

2. ผลงานที่มีเรื่องเล่าหรือมีเอกลักษณ์
การสร้างผลงานที่มีเรื่องเล่าหรือมีเอกลักษณ์ ทำให้ผลงานนั้นโดดเด่นและแตกต่างจากผลงานชิ้นอื่น หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่ได้ซื้อผลงานนั้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการซื้อเอกลักษณ์และเรื่องราวที่มากับผลงานนั้นด้วย ตัวอย่างเช่น ภาพ ‘The First 5,000 Days’ ของคุณ Mike Winkelmann หรือ Beeple เป็นการนำภาพที่เขาวาด 5,000 รูปตลอดระยะเวลา 13 ปี มาเรียบเรียงอยู่ในภาพเดียว ซึ่งภาพนี้มีมูลค่ามากถึง 69.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท

3. จำนวนและลำดับของผลงาน
จินตนาการถึงการครอบครองบางอย่างที่มีลักษณะเป็น Limited Edition จำนวนผลงานที่สร้างขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงอุปทาน (Supply) ของผลงาน เมื่อผลงานมีหลายชิ้น อำนาจการต่อรองอาจขึ้นอยู่กับผู้ซื้อมากกว่าผู้ขาย เนื่องจากมีทางเลือกในการซื้อขายผลงาน หรืออาจกล่าวว่าเป็นความหายากของผลงาน ซึ่งเป็นไปตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์

ตัวอย่างเช่น เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างผลงานที่มีจำนวน 10 ชิ้นและผลงานที่มีจำนวน 100 ชิ้น เมื่อปัจจัยอื่นคงที่และมีผู้ครอบครองผลงานครบทุกชิ้น หากมีความต้องการซื้อจากผู้ซื้อรายใหม่ อาจต้องมีการเสนอราคาที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้ขายยินดีที่จะขายผลงานออกมา ซึ่งหากดูโอกาสและความน่าจะเป็นที่อาจเกิดขึ้นพบว่า ผลงานที่มีจำนวน 10 ชิ้น อัตราความน่าจะเป็นคือ 1 ใน 10 ในขณะที่ผลงานที่มีจำนวน 100 ชิ้น อัตราความน่าจะเป็นคือ 1 ใน 100 ดังนั้น จึงสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจการต่อรองของผู้ซื้อและผู้ขาย

นอกจากนั้น บางครั้งนักลงทุนอาจดูที่ลำดับตัวเลขของผลงานที่แสดงได้ เช่น ผลงานชิ้นแรกหรือชิ้นสุดท้ายของการสร้างผลงาน, ผลงานที่มีเลขสวย

4. ต้นทุนในการผลิตผลงาน
หากมองว่าการขายผลงานจะเป็นรายได้ของผู้สร้างแล้ว กำไรที่ผู้สร้างจะได้รับจากการสร้างผลงาน คือการนำค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาหักออกจากรายได้ที่ได้รับ กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น อาจเป็นต้นทุนตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการสร้างผลงานไปจนถึงขั้นตอนการวางขาย ซึ่งอาจมาจากต้นทุนการสร้างผลงาน ค่าแรง ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ค่าธรรมเนียมขายผลงานบน NFT Marketplace บางที่คิดค่าธรรมเนียมในการวางขายผลงานแบบเหมาจ่าย บางที่คิดค่าธรรมเนียมในการวางขายผลงานแบบต่อชิ้น ดังนั้น ต้นทุนในการสร้างผลงานอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้สร้างนำไปคำนวณในการตั้งราคาขายตั้งต้น

5. ความพึงพอใจของนักลงทุน
เนื่องจากเป็นการตัดสินใจซื้อขายของนักลงทุน อาจขึ้นอยู่กับรสนิยมหรือความชอบส่วนบุคคล ซึ่งแต่ละบุคคลมีความชอบที่แตกต่างกัน ในบางครั้งจึงหาคำตอบได้ยากว่าสิ่งนั้นควรมีมูลค่าจากสาเหตุใด เพียงถูกใจจึงอยากได้สิ่งนั้นมาครอบครอง หรืออาจเป็นการมองว่า การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ อาจเพิ่มโอกาสในการเติบโตของพอร์ตการลงทุนได้ จึงแบ่งเงินลงทุนบางส่วนเข้ามาซื้อเก็งกำไร เพื่อคาดหวังแนวโน้มการเติบโตของราคาในอนาคต

กล่าวโดยสรุป หากเปรียบการลงทุนใน NFT คล้ายกับการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ดังนั้น จึงอาจนำแนวคิดในการวิเคราะห์การลงทุนมาปรับใช้กันได้ ซึ่งปัจจัยที่อาจส่งผลต่อมูลค่าของผลงาน NFT มี 5 ปัจจัย ได้แก่ ชื่อเสียงของผู้สร้างผลงาน, ผลงานที่มีเรื่องเล่าหรือมีเอกลักษณ์, จำนวนและลำดับของผลงาน, ต้นทุนในการผลิตผลงาน, ความพึงพอใจของนักลงทุน